พื้นฐานศาสนาอิสลาม

๑. อิสลามและมุสลิม ต่างกันอย่างไร
เราทุกคนต่างยอมรับกันอย่างมั่นใจว่า เราคือมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม แต่คำว่าอิสลามและมุสลิม หมายถึงอะไรกัน...
อิสลาม หมายถึง ความสันติอันเกิดจากการนอบน้อมด้วยการภักดีต่ออัลลอฮฺ
มุสลิมหมายถึง ผู้มอบ ยอมตนต่อการที่จะดำเนินชีวิตไปตามวิถีหรือระบอบอิสลามซึ่งถูกกำหนดโดยพระเจ้า

๒. โครงสร้างของอิสลาม
อาคาร บ้านเรือน ย่อมมีโครงสร้าง อิสลามก็มีโครงสร้างเช่นกัน
โครงสร้างหลักของอิสลาม มี ๓ ประการ
  • หลักศรัทธา(รุก่นอีมาน)
  • หลักปฏิบัติ(รุก่นอิสลาม)
  • หลักคุณธรรม(อิหฺซาน)
       
หลักการศรัทธา  (รุก่นอีมาน)
โครงสร้างที่หนึ่ง คือ หลักศรัทธา ซึ่งแสดงออกด้วยการเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้น หรือที่เรียกกันว่า รุก่นอีมาน มี ๖ ประการ ดังนี้
๑)  ศรัทธาต่ออัลลอฮ์เป็นพระผู้อภิบาลองค์เดียวเท่านั้น
๒)  ศรัทธาต่อบรรดามะลาอิกะฮ์ของพระองค์
๓)  ศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ของพระองค์
๔)  ศรัทธาต่อบรรดานบีและร่อซูล  (ศาสนทูต)  ของพระองค์
๕)  ศรัทธาต่อวันอาคีเราะห์  (โลกหน้า)
๖)  ศรัทธาต่อการกำหนดสภาวการณ์ของพระองค์

หลักปฏิบัติ(รุก่นอิสลาม)
โครงสร้างที่สอง คือ หลักปฏิบัติ หรือที่เรียกกันว่า รุก่นอิสลาม มี ๕ ประการ ดังนี้
๑) กล่าวปฏิญาณตนว่า                                                                                       
 أشهد ألا إله إلا الله   وأشهد أن محمداً رسول الله
 (อัซฮะดุ  อันลาอิลาฮ่า  อิ้ลลั้ลลอฮ์  วะอัชฮะดุ  อันน่า  มุฮัมมะดั้ร  ร่อซูลุ้ลลอฮ์)
“ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า  แท้จริงไม่มีพระเจ้าอื่นใด  นอกจากอัลลอฮ์องค์เดียว  และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า  แท้จริงท่านนบีมุฮัมมัด  เป็นศาสนทูต  (รอซู้ล)  ของอัลลอฮ์”
การกล่าวปฏิญาณตนตามหลักอิสลามข้อ  1  นี้  จะต้องกล่าวเป็นภาษาอาหรับเท่าที่สามารถที่จะกระทำได้  และข้อสำคัญที่สุดจะต้องเข้าใจความหมายของคำปฏิญาณที่กล่าวนั้นด้วย
๒)  ต้องดำรง  “ละหมาดฟัรฎู  (ที่จำเป็น)”  5  เวลา  ทุกวัน
๓)  ต้องจ่ายทรัพย์  “ซะกาต”
๔)  ต้องถือ  “ศีลอด”  ทุกวันตลอดเดือนรอมฎอน
๕)  ต้องเดินทางไปประกอบพิธี  “ฮัจย์”  ณ  บัยตุลลอฮ์  นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย  1  ครั้งในขณะที่มีชีวิตอยู่  สำหรับผู้ที่มีความสามารถที่จะเดินทางไปกลับได้โดยปลอดภัย

หลักคุณธรรม  (หลักอิห์ซาน)
หลักคุณธรรม  คือ  หลักคุณธรรม  แสดงออกด้วยการขัดเกลาจิตใจให้สะอาดผ่องแผ้ว  ปราศจากความโอ้อวด  ความโลภ  โกรธ  หลง  และการมัวเมาในกิเลสตัณหามีจรรยามารยาทเรียบร้อยงดงาม  มีความสำนึกอยู่เสมอว่า  อัลลอฮ์ทรงตระหนักทรงรู้ถึงสิ่งที่มีอยู่ในหัวใจ  และการกระทำของเขาไม่ว่าเขาจะอยู่  ณ  ที่ใด  หลักอิห์ซาน  คือ
“ท่านจะต้องเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ประการหนึ่งว่า  ท่านมองเห็นพระองค์  ถ้าท่านมองไม่เห็นพระองค์  แท้จริงพระองค์ก็ทรงเห็นท่าน”

ข้อตัดสินเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจ
ข้อตัดสินเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจมี  5  ประการ
๑.  ฟัรฎู  หรือวาญิบ  (จำเป็น)  คือ  สิ่งที่ปฏิบัติแล้วได้รับผลบุญ  ถ้าละทิ้งจะได้รับโทษ  เช่น  การละหมาด  5  เวลา  การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นต้น
๒.  ซุนนะห์  หรือสุนัต  (ชอบให้ปฏิบัติ)  คือสิ่งที่ศาสนาใช้ให้มีการปฏิบัติโดยไม่บังคับ  เมื่อปฏิบัติแล้วได้รับผลบุญ  ถ้าละทิ้งก็ไม่ได้รับโทษ  เช่นการละหมาดซุนัตก่อนหรือหลังละหมาดฟัรฎู  5  เวลา
๓.  หะรอม  (ต้องห้าม)  คือเรื่องที่ศาสนาบัญญัติห้าม  หรือให้ละทิ้งโดยเด็ดขาด  ผู้ละทิ้งจะได้รับผลบุญ  ถ้าปฏิบัติจะได้รับโทษ  เช่น  การบริโภคเนื้อสุกร  การดื่มสุรา  การกินดอกเบี้ย  การออกเงินกู้เพื่อกินดอกเบี้ย  การผิดปะเวณี  เป็นต้น
๔.  มักรูฮ์  (น่ารังเกียจ)  คือเรื่องที่ศาสนาให้ละทิ้งโดยไม่บังคับ  ผู้ละทิ้งจะได้รับผลบุญ  ถ้าปฏิบัติก็จะไม่ได้รับโทษแต่จะถูกตำหนิ  เช่น  การรับประทานหอม  หรือกระเทียมดิบ  ๆ  ก่อนไปละหมาดญะมาอะห์
๕.  มุบาฮ์  (อนุญาตให้ปฏิบัติ)  คือสิ่งที่ศาสนาอนุมัติให้ปฏิบัติก็ไม่ได้รับผลบุญ  และละทิ้งก็ไม่ได้รับโทษ  เช่น  การบริโภคอาหารที่ดี  มีคุณภาพ  โดยไม่ฟุ่มเฟือย  การสวมเสื้อผ้า  เป็นต้น

ข้อแตกต่างฟัรฎูอีนกับฟัรฎูกิฟายะห์
ฟัรฎูอีน  คือเรื่องที่เป็นศาสนบัญญัติส่วนบุคคล  ซึ่งจำเป็นที่มุสลิมและมุสลิมะห์ที่บรรลุศาสนภาวะและมีสติสัมปชัญญะจะต้องปฏิบัติ  จะละทิ้งหรือให้ผู้อื่นปฏิบัติแทนไม่ได้  ศาสนบัญญัติประเภทนี้ไม่มีสิ่งทดแทนได้  นอกจากจะปฏิบัติอย่างครบถ้วน  เช่น  การละหมาด  การจ่ายซะกาต  การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน  การประกอบพิธีฮัจย์  สำหรับผู้ที่มีความสามารถ
ฟัรฎูกิฟายะฮ์  คือ  สิ่งที่เป็นศาสนบัญญัติส่วนรวม  ถ้าหากมีผู้หนึ่งปฏิบัติส่วนที่เหลือก็จะพ้นความรับผิดชอบไปด้วย  แต่ถ้าไม่มีผู้ใดปฏิบัติเลย  มุสลิมทุกคนต้องได้รับโทษ  เช่น  การตอบรับสล่าม  การจัดการเกี่ยวกับญะนาซะฮ์  (คนตาย)  และการละหมาดญะมาอะห์  (ละหมาดร่วมกัน)  การกำชับให้ทำความดีและห้ามปรามการทำความชั่ว  การประกอบอาชีพในสาขาที่มีความจำเป็น

น้ำสะอาดและน้ำสกปรก
ก่อนที่จะกล่าวถึงการละหมาด  จำเป็นที่เราจะต้องเรียนรู้ถึงความสะอาดเสียก่อน  เพราะผู้ที่จะละหมาดได้นั้น  จะต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายสะอาด
ดังนั้นในบทนี้  จะได้กล่าวถึงน้ำประเภทต่าง ๆ ที่ศาสนาบัญญัติให้ใช้ทำความสะอาดได้และน้ำบางประเภทที่ถูกห้ามใช้ทำความสะอาด

น้ำแบ่งออกเป็น  ๔  ประเภท  คือ
๑) น้ำมุตลัก (น้ำสะอาด) คือ น้ำที่สะอาดและสามารถทำความสะอาดสิ่งอื่น  ๆ  ได้ทุกอย่าง  น้ำประเภทนี้มี  7  ชนิด  คือ
        (๑)  น้ำจากแม่น้ำ  ลำคลอง น้ำประปา
        (๒)  น้ำฝน  น้ำค้าง  น้ำตก
        (๓)  น้ำทะเล
        (๔)  น้ำบ่อ
        (๕)  น้ำจากหิมะ
        (๖)  น้ำจากตาน้ำ
        (๗)  น้ำจากลูกเห็บ  น้ำแข็ง

๒) น้ำมุสต๊ะอ์มั้ล (น้ำสะอาดที่ไม่บริสุทธิ์) คือน้ำที่สะอาดแต่จะใช้ทำความสะอาดสิ่งอื่นไม่ได้  ได้แก่น้ำสะอาดที่ถูกใช้แล้ว  เช่น  น้ำที่ปลดเปลื้องฮ่าดัสครั้งแรก
๓) น้ำมุซัมมัส (น้ำสะอาดที่เปลี่ยนสภาพ)  คือน้ำสะอาดที่สามารถใช้ทำความสะอาดสิ่งอื่น  ๆ  ได้  แต่ไม่สมควรใช้  (มักรูฮ์)  ทำความสะอาด ได้แก่  น้ำที่ถูกแดดเผาจนร้อนซึ่งอยู่ในภาชนะที่เกิดสนิมได้
๔) น้ำนะญิส (น้ำสกปรก)  คือน้ำที่สิ่งสกปรกเจือปนอยู่  และน้ำนั้นมีจำนวนไม่ถึง  2  กุลละฮ์  (216  ลิตร  หรือประมาณ  11  ปี๊บ)  ถ้าน้ำนั้นมีจำนวนมากกว่า  2  กุลละฮ์  และมีนะญิสปนอยู่  แต่ไม่ทำให้น้ำนั้นเปลี่ยนกลิ่นหรือสี  ถือว่าเป็นน้ำสะอาด  แม้ว่าน้ำนั้นมีจำนวนมากกว่า  2  กุลละฮ์  แต่มีนะญิสและเปลี่ยนสีหรือกลิ่นหรือรสเดิม  ถือว่าเป็นน้ำนะญิส  ซึ่งห้ามใช้ดื่มและทำความสะอาดสิ่งใดไม่ได้  เช่น  น้ำที่มีซากสัตว์ตาย  จนทำให้น้ำนั้นเปลี่ยนสภาพ
สำหรับน้ำส้ม  น้ำใส่ย่อุทัย  น้ำชา  น้ำดอกไม้เทศ  น้ำหวาน  ถึงจะไม่ใช่น้ำนะญิส  แต่ก็จะเอาไปชำระล้างสิ่งสกปรกไม่ได้

นะญิส (สิ่งสกปรก) และการทำความสะอาด
นะญิส  คือ  สิ่งสกปรกโสโครก  หรือสิ่งอื่น  ๆ  ที่น่ารังเกียจ  ซึ่งบทบัญญัติของศาสนา  ให้ถือว่าเป็นนะญิสด้วย  เช่น  ซากสัตว์  โลหิต  อุจจาระ  ปัสสาวะ  หรือสุรา  เป็นต้น  สิ่งเหล่านั้นถือว่าเป็นนะญิสทั้งสิ้น

นะยิสมี ๓ ชนิด คือ
๑.  มุคอฟฟะฮ์  (นะญิสย่อยหรือชนิดบาง)  ได้แก่  ปัสสาวะของเด็กชายอายุไม่ถึง  2  ขวบ  ที่มิได้กินสิ่งอื่นใดที่ทำให้อิ่ม  นอกจากน้ำนมเท่านั้น
วิธีล้างนะญิสประเภทนี้  ให้เช็ดหรือเอานะญิสออกเสียก่อน  แล้วจึงเอาน้ำพรมรอยเปื้อนให้ทั่ว  โดยไม่ต้องให้น้ำไหลผ่านก็ใช้ได้
๒.  มุตะวัสซีเตาะฮ์  (นะญิสปานกลาง)  ได้แก่  อุจจาระ  ปัสสาวะของมนุษย์และ
สัตว์  ซากสัตว์ตาย  (นอกจากมนุษย์ ตั๊กแตน  ปลา)  สุราและของเหลวที่ทำให้มึนเมา  เลือดมนุษย์และสัตว์  อาเจียนของมนุษย์หรือสัตว์  น้ำนมของสัตว์ที่ห้ามรับประทาน

วิธีล้างน่าญิสประเภทนี้
ถ้าเป็นนะญิสฮุกมี  คือ สิ่งสกปรกที่ไม่ปรากฏตัวตนหรือไม่มีลักษณะแสดงให้ทราบว่ามีสี  กลิ่น  รส  เช่น  ปัสสาวะที่ทิ้งไว้จนแห้งโดยไม่ล้าง   การล้างนะญิสประเภทนี้  ให้เปลื้องนะญิสออกให้หมดเสียก่อน  แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดให้ไหลผ่าน  ๑  ครั้งก็ใช้ได้  ที่ดีควรล้าง  ๓  ครั้ง
ถ้าเป็นนะญิสอัยนี  คือสิ่งสกปรกที่ปรากฏตัวตนหรือมีลักษณะแสดงให้ทราบว่า  มีสี  กลิ่น  รส  วิธีล้างนะญิสประเภทนี้  ให้ดำเนินตามวิธีล้างนะญิสฮุกมี  หากไม่สามารถจะล้างให้หมดสี  กลิ่น  หรือรสได้แล้ว  ก็ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดอีก  ๓  ครั้ง  จึงจะใช้ได้
๓. มุฆ้อลละเศาะฮ์ (นะญิสใหญ่หรือชนิดหนัก)   ได้แก่  สุกร  สุนัข  หรือทุกสิ่งอันเกิดจากสัตว์ทั้งสองนี้  เช่น  ปัสสาวะ  อุจจาระ  รอยเท้าที่เปียกหรือน้ำลายของมัน  ฯลฯ
วิธีล้างนะญีสประเภทนี้   คือต้องเช็ดหรือเอานะญิสออกให้หมดเสียก่อน  แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดให้ไหลผ่าน  ๗  ครั้ง  แต่  ๑  ใน  ๗  ครั้งนั้น  ต้องเป็นน้ำปนดินที่สะอาดหรือดินสอพอง  และควรใช้น้ำปนดินในครั้งที่  ๑

การซักเสื้อผ้ากางเกง
การซักเสื้อผ้าหรือกางเกง  หากมีสิ่งใดเปื้อนนะญิสอยู่  ต้องล้างด้วยน้ำไหลผ่านให้สะอาดเสียก่อน  จึงจะนำไปแช่รวมกันได้

ข้อควรระวัง
๑.  อย่าให้นะญิสตกลงไปในน้ำที่ใช้ทำความสะอาด  เพราะจะทำให้น้ำนั้นเป็นนะญิส
๒.  อย่าใช้ภาชนะที่เปื้อนนะญิสไปตักน้ำ  เพราะจะทำให้น้ำนั้นเป็นนะญิสไปด้วย  เช่น  การอมขันแล้วบ้วนปากหลังตื่นนอน  แล้วเอาขันไปตักน้ำในโอ่งอีก  จะทำให้น้ำในโอ่งเป็นนะญิสไปด้วย  เพราะขันที่เปื้อนน้ำลาย  (บูด)  เมื่อตื่นนอนเป็นนะญีส

การล้างอุจจาระและปัสสาวะ
เมื่อถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะแล้ว  ต้องล้างก้นด้วยน้ำมะอาด  หากไม่มีน้ำให้เช็ดด้วยหิน  หรือสิ่งอื่นที่สะอาด  ซึ่งไม่ใช่เป็นอาหารของมนุษย์  โดยเช็ดไม่น้อยกว่า  3  ครั้ง  เช่น  กระดาษชำระ  เป็นต้น

(มีต่อนะครับ จะอัฟเดทข้อมูลทุกวัน)